เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [19.สัฏฐินิบาต] 2.สังกิจจชาดก (530)
2. สังกิจจชาดก (530)
ว่าด้วยสังกิจจฤๅษี
(พระศาสดาทรงปรารภพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ทำปิตุฆาต จึงตรัสสังกิจจชาดก
นี้ว่า)
[69] ลำดับนั้น คนเฝ้าสวนเห็นพระเจ้าพรหมทัต
ผู้ทรงเป็นจอมทัพประทับนั่งอยู่
จึงได้กราบทูลท้าวเธอให้ทรงทราบว่า
“พระองค์ทรงเอ็นดูท่านผู้ใด
[70] ท่านผู้นี้ คือ สังกิจจฤๅษี ผู้ได้รับสมมติว่า
เป็นคนดีกว่าฤๅษีทั้งหลาย ได้มาถึงแล้ว
ขอเชิญพระองค์รีบเสด็จออกไปพบ
ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่โดยด่วนเถิด พระเจ้าข้า”
[71] ลำดับนั้น พระราชาผู้จอมทัพ
รีบเสด็จขึ้นประทับราชรถที่เทียมไว้แล้ว
มีหมู่มิตรและอำมาตย์ห้อมล้อมได้เสด็จไปแล้ว
[72] พระราชาผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี
ทรงเก็บราชกกุธภัณฑ์ 5 ประการ คือ
1. พัดวาลวีชนี 2. กรอบพระพักตร์ 3. พระขรรค์
4. เศวตฉัตร 5. ฉลองพระบาท
[73] พระราชาทรงวางเบญจกกุธภัณฑ์ไว้อย่างปกปิดแล้ว
เสด็จลงจากราชยาน ทรงดำเนินเข้าไปหาสังกิจจฤๅษี
ซึ่งนั่งอยู่ ณ ทายปัสสอุทยาน
[74] พระราชาพระองค์นั้นครั้นเสด็จเข้าไปหาแล้ว
ทรงบันเทิงอยู่กับฤๅษีสนทนาปราศรัย
พอให้ระลึกถึงกันและกันแล้วเสด็จเข้าไป ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :45 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [19.สัฏฐินิบาต] 2.สังกิจจชาดก (530)
[75] ประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
เมื่อทรงเห็นว่าเป็นกาลอันสมควร
จึงทรงสอบถามถึงกรรมอันเป็นบาปว่า
[76] โยมขอถามท่านสังกิจจฤๅษีผู้ได้รับสมมติว่า
เป็นคนดีกว่าฤๅษีทั้งหลายซึ่งนั่งอยู่ ณ ทายปัสสอุทยาน
ห้อมล้อมไปด้วยหมู่ฤๅษีว่า
[77] คนผู้ประพฤติล่วงธรรมทั้งหลาย
เหมือนโยมผู้ประพฤติล่วงธรรม ละไปแล้วจะไปสู่คติอะไร
ขอพระคุณเจ้าจงตอบเนื้อความที่โยมถามเถิด
[78] สังกิจจฤๅษีได้กราบทูลพระราชาผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี
ซึ่งประทับนั่ง ณ ทายปัสสอุทยานว่า
ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์ทรงสดับคำของอาตมภาพ
[79] ผู้ใดพร่ำสอนบอกหนทางแก่คนเดินทางผิด
ถ้าเขาพึงทำตามคำของผู้นั้น เขาก็ไม่พึงถูกหนามตำฉันใด
[80] ผู้ใดพร่ำสอนธรรมแก่ผู้ปฏิบัติผิดธรรม
ถ้าเขาพึงทำตามคำสอนของท่านผู้นั้น
เขาจะไม่พึงไปสู่ทุคติฉันนั้นเหมือนกัน
(ฤๅษีโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาต่อไปว่า)
[81] ข้าแต่มหาราช ธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ปลอดภัย1
ส่วนอธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ไม่ปลอดภัย
เพราะว่าอธรรมนำสัตว์ไปสู่นรก ส่วนธรรมยังสัตว์ให้ถึงสุคติ

เชิงอรรถ :
1 ธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ปลอดภัย ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ 10 ประการ (กายกรรม 3 คือ เว้นจากการ
ฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม, วจีกรรม 4 คือเว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูด
ส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ, มโนกรรม 3 คือไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่คิดปองร้ายเขา
เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม) เป็นทางเกษม ไม่มีภัยเฉพาะหน้า ดำเนินไปสู่สุคติ (ขุ.ชา.อ. 8/81/111)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :46 }